กลิ่นในตู้เสื้อผ้าใหม่?!

กลิ่นในตู้เสื้อผ้าใหม่

 

หลายท่านที่ซื้อตู้เสื้อผ้าใหม่มา แล้วเผชิญปัญหาตู้เสื้อผ้ามีกลิ่น นอกจากนี้เมื่อเปิดประตูออกมาแล้วมีอาการแสบตา ระคายเคือง ท่านอาจจะสงสัยว่า เกิดจากอะไร และทำอย่างไรกลิ่นและอาการระคายเคืองจะหายไป วันนี้เรามีคำตอบ หลังจากท่านอ่านบทความนี้จนจบ ท่านจะได้คำตอบว่า กลิ่นในตู้เสื้อผ้าใหม่?! เกิดจากอะไร อันตรายไหม? และเราจะมีวิธีลดหรือขจัดได้อย่างไรบ้าง?

 

 

กลิ่นในตู้เสื้อผ้าใหม่เกิดจากอะไร?

 

ลักษณะการเรียงตัวของฟอร์มัลดีไฮด์

 

กลิ่นในตู้เสื้อผ้าใหม่ คือ ฟอร์มัลดิไฮด์ (Formaldehyde: CH2O) ซึ่งเป็นสารเคมีชนิดหนึ่ง ใช้ในอุตสาหกรรมหลากหลาย เช่น อุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์ โดยใช้ผสมเป็นกาวในกระบวนการผลิตไม้ เช่น ไม้ปาติเกิล (ไม้ปาติเกิลคืออะไร ดูเพิ่มเติม)ไม้mdf ไม้อัด ฯลฯ หรือใช้เป็นส่วนผสมของสารเคลือบผิวเฟอร์นิเจอร์ เช่น ผิวเมลามีน

ใช้ในอุตสาหกรรมเคมีพลาสติก โดยเป็นสารตั้งต้นนำไปผลิตเม็ดพลาสติกต่างๆ ใช้ในอุตสาหกรรมผ้าและสิ่งทอ โดยใช้เป็นน้ำยาอาบผ้าทำให้ผ้าคงตัว ไม่ยับย่น ใช้ทำสีย้อมผ้า ใช้ในการฟอกหนัง นอกจากนี้ยังใช้ในพื้นลามิเนต ผลิตยาง เรซิ่น ไฟเบอร์กลาส สีทาบ้าน ฯลฯ ฟอมัลดีไฮด์นับเป็น หนึ่งในสารเคมีที่นำมาใช้ในอุตสาหกรรมมากที่สุดในโลก

 

ฟอลมัลดีไฮต์ในบ้านมาจากไหนบ้าง อ้างอิง https://www.atsdr.cdc.gov/formaldehyde/home/index.html

 

สารนี้อันตรายไหม? 

 

ฟอร์มัลดีไฮด์เป็นก๊าซไม่มีสี มีกลิ่นฉุน หากอยู่ในรูปสารละลายจะเรียกว่า ฟอร์มาลีน (Formalin) สารละลายนี้หากสัมผัสทางผิวหนังจะทำให้ผิวหนังอักเสบ พุพอง เป็นตุ่มคัน หรือแผลไหม้ ได้ หากกระเด็นเข้าตา จะทำให้ตาแสบ ตาพร่ามัว เพราะสารนี้จะไปทำลายกระจกตา อาจทำให้ตาบอดได้

หากรับประทานสารละลายชนิดนี้เข้าไป จะเกิดอาการเป็นพิษต่อระบบภายใน ตั้งแต่ อาการปวดแสบปวดร้อน ปวดท้อง อาเจียน ท้องร่วง หมดสติ ฯลฯ สรุปคือ สารละลายฟอร์มาลีนมีอันตรายมากหากสัมผัสทางผิวหนังหรือเผอิญรับประทานเข้าไป

 

อ้างอิง https://www.atsdr.cdc.gov/formaldehyde/home/index.html

 

แต่หากสารนี้อยู่ในรูปฟอร์มัลดีไฮด์ ซึ่งมีสถานะเป็นก๊าซ จะก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อดวงตาและผิวหนัง โดยอาจมีอาการตั้งแต่ แสบตา แสบจมูก แสบคอโดยเฉพาะผู้ที่เป็นภูมิแพ้ หรือมีภูมิคุ้มกันต่ำ จะมีอาการมากกว่าคนทั่วไป หากสัมผัสฟอร์มัลดีไฮต์เป็นระยะเวลานาน (โดยเฉพาะผู้ที่ทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมที่สัมผัสกับสารฟอร์มัลดีไฮด์โดยตรง) อาจก่อให้เกิดภูมิแพ้ หอบหืด และภูมิแพ้ผิวหนัง และหากสัมผัสต่อเนื่องและในปริมาณมาก อาจทำให้เกิดมะเร็งโพรงจมูก มะเร็งคอหอยส่วนจมูก ได้ แต่อัตราการเกิดมะเร็งเหล่านี้ค่อนข้างต่ำ 

โดยปกติแล้วเราจะได้กลิ่นฟอร์มัลดีไฮด์ในอากาศ หากมีฟอร์มัลดีไฮต์เข้มข้นเพียง 1 ppm เฟอร์นิเจอร์ใหม่ หรือบ้านที่สร้างเสร็จใหม่ๆ จะมีฟอร์มัลดีไฮด์มากกว่าบ้านเก่า หรือเฟอร์นิเจอร์เก่าที่ใช้งานมาเป็นเวลานาน โดยปกติสารฟอร์มัลดีไฮด์จะระเหยไปเองเมื่อผ่านไประยะเวลาหนึ่ง ดังนั้น โอกาสที่ผู้อาศัยในบ้านจะสัมผัสกับฟอร์มัลดีไฮด์มักเป็นระยะเวลาสั้น ไม่ยาวนัก ดังนั้นอัตราการเกิดอันตรายต่อร่างกายจะค่อนข้างต่ำ

 

บ้านเก่ามักมีทางระบายอากาศมากกว่าบ้านใหม่ ไม่ว่าจะเป็นเพราะอายุ หรือโครงสร้างการออกแบบตัวบ้านที่เน้นอากาศไหลเวียนถ่ายเท นอกจากนี้เฟอร์นิเจอร์และวัสดุอุปกรณ์ในบ้านหากใช้มานาน ฟอร์มัลดีไฮต์จะน้อยมากเมื่อเทียบกับบ้านใหม่และเฟอร์นิเจอร์ใหม่

อ้างอิง https://www.atsdr.cdc.gov/formaldehyde/home/index.html

 

 

แล้วมีวิธีไหนบ้างในการลดฟอร์มัลดีไฮต์ได้บ้าง?

 

วิธีลดฟอร์มัลดีไฮต์ มีอยู่ 3 วิธี ได้แก่ ทำให้อากาศถ่ายเท ควบคุมอุณหภูมิและความชื้น และใช้ตัวช่วยฟอกอากาศ โดยแนะนำให้ท่านทำ ดังนี้

 

  1. เปิดประตูตู้เสื้อผ้า และเปิดหน้าต่างห้อง ให้อากาศถ่ายเท ฟอมัลดีไฮด์จะคงอยู่ในห้องที่อากาศไม่ถ่ายเทได้นานกว่าห้องที่มีอากาศถ่ายเท โดยเปิดทิ้งไว้ ประมาณ 3 วัน ถึง 1 สัปดาห์ ฟอมัลดิไฮต์จะระเหยไปเอง
  2. หากลิ่นแรงมาก อาจตั้งตู้ไว้นอกบ้านสัก 2-3 วัน ก่อนเอาเข้าบ้าน
  3. ติดตั้งพัดลมดูดอากาศ เพื่อช่วยให้อากาศไหลเวียนในห้องมากขึ้น
  4. ควบคุมอุณหภูมิและความชื้นในห้อง ให้ต่ำไว้ เพราะการปลดปล่อยฟอร์มัลดีไฮด์จะเร็วขึ้นในห้องที่อุณภูมิและความชื้นสูง ดังนั้นท่านอาจเปิดแอร์ หรือใช้อุปกรณ์ควบคุมระดับความชื้นในห้อง
  5. ใช้เครื่องฟอกอากาศ
  6. วางต้นไม้ในห้อง ต้นไม้จะช่วยฟอกอากาศในห้อง

 

อ้างอิง https://www.atsdr.cdc.gov/formaldehyde/home/index.html

 

วิธีการตรึงไอระเหยของฟอร์มัลดีไฮต์

 

วิธีที่แนะนำไปข้างต้น ต้องใช้เวลาพอสมควร ซึ่งส่วนใหญ่ท่านที่ซื้อเฟอร์นิเจอร์เข้าบ้านก็ต้องการใช้ของเลย จึงต้องการวิธีกำจัดกลิ่นที่ได้ผลทันที วิธีที่ขอยกมาแนะนำในที่นี้คือ วิธีการตรึงไอระเหยของฟอร์มัลดีไฮต์ โดยใช้ปุ๋ยยูเรียสูตร 46-0-0 (Urea : O=C(NH₂)₂) ซึ่งเป็นปุ๋ยบำรุงพืชที่มีขายอยู่ทั่วไปตามท้องตลาด ยูเรียนี้จะทำปฏิกิริยากับฟอร์มัลดีไฮด์เกิดเป็น Thermosetting polymer  ที่มีความเสถียรสูงในอุณหภูมิห้อง ดังนั้นฟอร์มัลดิไฮต์กับยูเรียก็จะกลายเป็นสารตัวใหม่นี้ ทำให้หมดฤทธิ์เดชไปนั่นเอง

 

ขั้นตอนการทำมีดังนี้

1.ตวงยูเรียระมาณ 1 ช้อนโต๊ะ

2.นำไปละลายในน้ำประมาณ 1 ถ้วยตวง และคนให้ละลายหมด

3.เทน้ำยาล้างห้องน้ำที่มีกรดเกลือเป็นส่วนผสม เช่น วิคซอล เป็ดโปร ฯลฯ ประมาณ 1 ช้อนโต๊ะ และคนให้เข้ากัน

4.น้ำยาที่ผสมแล้วมาเช็ดลูบที่ผิวไม้ เหมือนทำความสะอาดตู้เบาๆ เช็ดจนทั่วแล้วปล่อยทิ้งไว้สัก 2-3 ชั่วโมง

ขอบคุณความรู้ดีๆจากเพจ เคมีฟิสิกส์ของสิ่งทอ อาหาร และของรอบตัว

 

สรุป

 

กลิ่นและอากาศระคายเคืองบริเวณดวงตาเมื่อเปิดประตูตู้เสื้อผ้า เกิดจากสารฟอร์มัลดีไฮต์ ซึ่งเป็นสารที่ใช้ในกระบวนการผลิตเฟอร์นิเจอร์ เฟอร์มัลดีไฮต์เป็นสารอันตรายหากได้รับในปริมาณเข้มข้นต่อเนื่องเป็นเวลานาน แต่หากเป็นฟอร์มัลดิไฮต์จากเฟอร์นิเจอร์มักคงอยู่ในระยะเวลาสั้น เมื่อเวลาผ่านไปฟอร์มัลดีไฮต์จะระเหยหมดไปได้เอง วิธีการลดสารฟอร์มัลดิไฮต์ ได้แก่ การทำให้ห้องมีอากาศไหลเวียนได้สะดวก โดยการเปิด หน้าต่าง ติดตั้งพัดลมดูดอากาศ หรือตั้งเฟอร์นิเจอร์ไว้นอกบ้าน ให้สารฟอร์มัลดิไฮต์ระเหยออกไปให้ได้มากที่สุด นอกจากนี้ควรควบคุมอุณหภูมิและความชื้นในห้องไม่ให้สูงเพราะการปลดปล่อยฟอร์มัลดิไฮต์จะเร็วขึ้นเมื่ออุณหภูมิและความชื้นสูง วิธีแก้ไขคือ เปิดเเอร์และใช้อุปกรณ์ควบคุมระดับความชื้น นอกจากนี้อาจใช้เครื่องฟอกอากาศ และต้นไม้ ช่วยฟอกอากาศในห้องควบคู่ไปด้วย หากท่านใดต้องการกำจัดฟอร์มัลดีไฮต์แบบทันทีทันใด ลองใช้วิธีตรึงไอระเหยของฟอร์มัลดีไฮต์ได้

 

บทความอื่นๆ

เฟอร์นิเจอร์ไม้ปาติเกิลคุ้มค่ากับการซื้อมาใช้ไหม?

5 สิ่งที่ไม่ควรทำ ถ้าอยากให้ตู้เสื้อผ้าใช้งานได้นานๆ

 

 

STL FURNITURE จำหน่ายเฟอร์นิเจอร์ปลีก-ส่ง ทุกชนิด

 

อ้างอิง

https://www.atsdr.cdc.gov/formaldehyde/home/index.html

https://www.epa.gov/formaldehyde/protect-against-exposures-formaldehyde

http://www.thailandindustry.com/indust_newweb/articles_preview.php?cid=19310

https://purelivingspace.com/blogs/home-air-quality/cut-household-formaldehyde-with-nine-proven-ways

https://en.wikipedia.org/wiki/Formaldehyde

https://www.facebook.com/textile.phys.and.chem/photos/a.711374682234302/1672744196097341/?type=3

 

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น ช่องข้อมูลจำเป็นถูกทำเครื่องหมาย *