การเลือกซื้อที่นอนเป็นเรื่องยุ่งยากน่าปวดหัวสำหรับใครหลายๆคน เพราะในท้องตลาดมีที่นอนหลายรุ่น หลายแบบเหลือเกิน ทุกรุ่นก็มักโฆษณาว่าของตนนั้นดีที่สุด แล้วในฐานะผู้บริโภคจะตัดสินใจเลือกรุ่นไหนดี? เพื่อให้ตอบโจทย์การใช้งานของตัวเองมากที่สุดและมั่นใจได้ว่าเสียเงินไปแล้วจะไม่เสียเปล่า? จริงๆแล้วการเลือกซื้อที่นอนนั้นไม่ยาก เพราะที่นอน เมื่อแบ่งเป็นกลุ่มใหญ่ๆ มีเพียง 2 กลุ่มเท่านั้น ได้แก่ ที่นอนสปริง และที่นอนที่ไม่ใช่สปริง หากท่านเข้าใจความแตกต่างระหว่างที่นอน 2 กลุ่มนี้ ท่านจะได้ไอเดียว่าควรโฟกัสความสนใจไปที่ที่นอนแบบไหน บทความนี้เราจะมาพูดถึงที่นอนทุกประเภทที่มีขายในท้องตลาด ทั้งที่นอนสปริงและไม่ใช่สปริง ที่นอนที่ไม่ใช่สปริงนั้นมีอะไรบ้าง รวมทั้งแจกแจง ข้อดี-ข้อเสีย ของ 7 ประเภทที่นอน แบบละเอียด ฉบับอัพเดทปี 2567
ที่นอนสปริง
ที่นอนสปริง คือ ที่นอนที่ผลิตจากขดลวดโลหะที่มีลักษณะแบบสปริงเชื่อมต่อกันเป็นโครงที่นอน และห่อหุ้มด้วยผ้า ส่วนใหญ่มีเสริมฟองน้ำหรือวัสดุอื่นด้านบน หรือทั้งบนล่าง เพื่อไม่ให้ผู้นอนสัมผัสโดยตรงกับลวดสปริงและช่วยให้นอนสบายขึ้น แต่โดยรวมโครงสร้างหลักเป็นสปริง ที่นอนสปริงส่วนใหญ่มีความหนา 10 นิ้วขึ้นไป ทั้งนี้ความหนามากหรือน้อยมักขึ้นอยู่กับวัสดุที่เสริมด้านบนและด้านล่างของสปริง ซึ่งประเภทของวัสดุ ความหนาและคุณภาพของวัสดุเป็นตัวสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าตัวสปริงที่ผลต่อความสบายของที่นอนสปริง มาตรฐานของขดลวดสปริงที่ดีมักมีความหนาอยู่ที่ 2.4 มิลลิเมตร
ที่นอนสปริงที่เสริมด้วยฟองน้ำและใยมะพร้าว
ข้อดีของที่นอนสปริง
- ราคาเริ่มต้นไม่แพง
- มีความเด้งมากกว่าที่นอนประเภทอื่น นอนไม่รู้สึกแข็งกระด้าง
- สามารถลดแรงกดทับได้ดี
- เพราะเป็นขดสปริงอากาศจึงไหลเวียนสะดวก นอนไม่ร้อน
- น้ำหนักไม่มาก ง่ายต่อการยกทำความสะอาด เปลี่ยนผ้าปูที่นอน และขนย้าย
- เหมาะสำหรับผู้ชอบนอนตะแคง เพราะสปริงจะยุบตัวตามน้ำหนักผู้นอนกว่าที่นอนรุ่นอื่น ทำให้ไม่ปวดไหล่
ข้อเสียของที่นอนสปริง
- เป็นที่นอนที่เสียหายง่ายสุดหากใช้งานไม่ถูกวิธี เช่น ขึ้นไปกระโดด กระแทก ฯลฯ
- หากเป็นที่นอนสปริงทั่วไป หรือ ที่เรียกว่าสปริง bonnell เมื่อผู้นอนคนหนึ่งขยับตัว ผู้นอนอีกคนอาจรู้สึกได้ (ซึ่งต่างจากที่นอน pocket spring)
- กระจายน้ำหนักเฉพาะส่วน จึงรองรับน้ำหนักผู้นอนได้บางส่วนแต่ไม่ทั้งหมด
- พับและม้วนไม่ได้มาก เพราะจะทำให้สปริงเสียหาย
- บางรุ่นอาจมีเสียงสปริงเสียดสีขณะผู้นอนขยับตัว
- เมื่อใช้ไปนานๆสปริงอาจโผล่ทำให้ได้รับบาดเจ็บขณะนอนได้
- เมื่อสปริงเสื่อมสภาพจะยุบตัว โดยมากจะยุบบริเวณที่รองรับสะโพกผู้นอน เพราะเป็นบริเวณที่มีน้ำหนักลงมากที่สุด หากฝืนใช้งานต่อจะทำให้ปวดหลังและส่งผลเสียต่อสุขภาพ
ลักษณะของพ็อกเก็ตสปริง
ที่นอนสปริงเหมาะกับใคร?
- เหมาะกับผู้ที่ชอบที่นอนสปริง
- เหมาะกับผู้ที่ชอบนอนที่นอนนุ่ม มีความเด้ง
- เหมาะกับผู้ที่ชอบนอนตะแคง
- มักเหมาะเด็ก วัยรุ่น และวัยผู้ใหญ่ตอนต้น
- เหมาะสำหรับผู้ที่ขี้ร้อน ต้องการที่นอนระบายอากาศได้ดี
ดูที่นอนสปริงของ STL FURNITURE
ดูที่นอนพ็อกเก็ตสปริงของ STL FURNITURE
ที่นอนที่ไม่ใช่สปริง
ที่นอนที่ไม่ใช่สปริง คือที่นอนที่ไม่มีส่วนประกอบของสปริง โดยส่วนประกอบอาจมีทั้ง โฟม ใยมะพร้าว ฟองน้ำ ยาง ฯลฯ ส่วนใหญ่ประกอบวัสดุตั้งแต่ 2 ชนิดขึ้นไป เพื่อให้คุณสมบัติแต่ละประเภทส่งเสริมประสิทธิภาพการนอนมากขึ้น ที่นอนกลุ่มนี้แบ่งได้เป็น 4 กลุ่มใหญ่ๆ ตามวัสดุหลักที่ใช้ทำที่นอน ดังนี้
ที่นอนโฟมขาว
ที่นอนโฟมขาว คือที่นอนที่ผลิตจากเม็ดโฟม ซึ่งเป็นพลาสติกที่ถูกทำให้ฟูและขยายตัว จากนั้นอัดขึ้นรูปเป็นทรงสี่เหลี่ยมพื้นผ้าและตัดให้ได้ตามขนาดที่ต้องการ เรียกว่าแผ่นโฟม แผ่นโฟมเป็นวัสดุสังเคราะห์ที่ใช้งานได้หลากหลาย ไม่ว่าจะใช้ทำเบาะที่นอน ใช้เป็นฉนวนกันความร้อน กันกระแทก และอื่นๆ
ส่วนใหญ่ที่นอนโฟมจะมีเสริมวัสดุอื่นๆเพื่อช่วยให้นอนสบายขึ้นและที่นอนใช้งานได้นานขึ้น เช่น ฟองน้ำ ใยมะพร้าว ฯลฯ หากมีวัสดุอื่นเสริมที่นอนมักมีน้ำหนักเพิ่มขึ้น หากที่นอนเบามากๆอาจไม่มีอะไรเสริมเลย มีเพียงที่นอนและหุ้มด้วยผ้าเท่านั้น โดยทั่วไปที่นอนโฟมมักมีความหนาตั้งแต่ 6 – 8 นิ้ว ไม่น้อยและเกินไปจากนี้ ที่นอนโฟมมักเป็นนิยมในหอพัก ห้องเช่าทั่วไป ที่ไม่เน้นเรื่องอายุการใช้งานมากนัก
ข้อดีของที่นอนโฟมขาว
- ราคาถูกที่สุดในบรรดาที่นอนทั้งหมด
- น้ำหนักเบา เคลื่อนย้ายและทำความสะอาดง่าย
- รองรับน้ำหนักได้ดี
- ไม่นิ่มยวบ
ข้อเสียของที่นอนโฟมขาว
- สัมผัสค่อนข้างเเข็ง จึงมักทำวัสดุอื่นๆเช่น ฟองน้ำ เสริมด้านบนเพื่อช่วยเรื่องการนอน
- อายุการใช้งานสั้น เฉลี่ยไม่เกิน 2 ปี
- ไม่สามารถงอ พับได้เลย
- เมื่อใช้ไปนานๆอาจเกิดจากยุบตัวเป็นแอ่ง
ที่นอนโฟมขาวเหมาะกับใคร?
- เหมาะกับผู้ที่งบน้อย ต้องการที่นอนราคาถูก
- เหมาะกับผู้ที่ต้องการใช้ที่นอนเพียงระยะสั้นๆ ชั่วครั้งชั่วคราว
- เหมาะกับหอพักห้องเช่าที่ต้องการประหยัดงบ
ที่นอนใยมะพร้าวฟองน้ำ
ที่นอนใยมะพร้าวฟองน้ำ เป็นที่นอนรุ่นยอดนิยมอีกรุ่นหนึ่ง โดยผลิตจากฟองน้ำและใยมะพร้าว อย่างละครึ่ง ที่ว่าอย่างละครึ่งนั้นหมายถึง อาจเป็นใยมะพร้าว 2 นิ้ว และฟองน้ำ 4 นิ้ว สำหรับที่นอนหนา 6 นิ้ว หรือ เป็นใยมะพร้าว 3 นิ้ว และฟองน้ำ 5 นิ้ว สำหรับที่นอนหนา 8 นิ้ว เป็นต้น
ใยมะพร้าวได้มาจากการนำใยมะพร้าวมาปั่นและอัดเป็นแผ่นด้วยความร้อน ที่นอนใยมะพร้าวที่ดีจะมีการราดน้ำยางเพื่อให้ใยมะพร้าวเกาะแน่นไม่หลุดจากกัน ที่นอนใยมะพร้าวฟองน้ำเป็นนวัตกรรมใหม่ที่ผสมผสานจุดเด่นของวัสดุ 2 ประเภท คือ ฟองน้ำ และใยมะพร้าว โดยฟองน้ำจะช่วยเรื่องความนุ่มสบาย ส่วนใยมะพร้าว ช่วยเสริมความแข็งแรงไม่ยวบยาบของที่นอน ผู้นอนสามารถเลือกนอนได้ทั้ง 2 ด้านที่นอน นับเป็นการเพิ่มตัวเลือกให้กับผู้ใช้งาน โดยทั่วไปใยมะพร้าวเป็นวัสดุที่มักใช้เสริมที่นอนต่างๆ เช่นที่นอนสปริง ที่นอนโฟม เพื่อช่วยเพิ่มคุณสมบัติบางประเภทของที่นอน ไม่มีที่นอนที่ทำจากใยมะพร้าวล้วนๆ
ข้อดีของที่นอนใยมะพร้าวฟองน้ำ
- ราคาไม่แพง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเกรดของวัสดุที่ใช้ทำ
- สามารถเลือกนอนได้ทั้ง 2 ด้านของที่นอน ซึ่ง 2 ด้านให้ความรู้สึกสัมผัสที่แตกต่างกัน
- เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพราะใยมะพร้าวเป็นวัสดุตามธรรมชาติ สามารถย่อยสลายได้
- มีความแข็ง ไม่ยวบยาบและยุบตัวตามน้ำหนัก
- รองรับน้ำหนักได้ดี
ข้อเสียของที่นอนใยมะพร้าวฟองน้ำ
- เมื่อที่นอนเสื่อมสภาพ ใยมะพร้าวจะเริ่มลุ่ยเป็นฝุ่นผง อาจส่งผลกระทบระบบทางเดินหายใจ ที่นอนใยมะพร้าวฟองน้ำเมื่อเสื่อมสภาพจึงควรเปลี่ยนทันที
- เมื่อใช้นานไปนานๆอาจเป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรค รา แบคทีเรีย และแมลง ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการรักษาสุขอนามัยของห้องนอนด้วย
ที่นอนใยมะพร้าวฟองน้ำเหมาะกับใคร?
- เหมาะกับผู้ที่ต้องการที่นอนคุณภาพและราคาปานกลาง
- เหมาะกับผู้ที่ต้องการที่นอนที่เลือกนอนได้ทั้ง 2 ด้าน
- เหมาะกับผู้ที่ไม่ชอบที่นอนสปริง
อ่านเพิ่มเติม ที่นอนใยมะพร้าวดีหรือไม่ดี ควรเลือกใช้ไหม
ดูที่นอนใยมะพร้าวฟองน้ำของ STL FURNITURE
ที่นอนยางสังเคราะห์ (PE) หรือที่นอนฟองน้ำวิทยาศาสตร์
ที่นอนยางสังเคราะห์ PE คือที่นอนที่ผลิตจากวัสดุสังเคราะห์ polyethylene ซึ่งผลิตจากสารตั้งต้นเอทิลีน ใช้ในอุตสาหกรรมหลากหลาย เช่น ผลิตภาชนะห่มหุ้มอาหาร ถุงพลาสติก ฟิล์มพลาสติก ขวดพลาสติก และผลิตภัณฑ์อื่นๆนานับประการ ในส่วนของที่นอนมักใช้เป็นแกนกลางของโครงสร้างที่นอนแทนใยมะพร้าว เพราะมีคุณสมบัติที่ใยมะพร้าวไม่มีเช่น ไม่เป็นฝุ่นและไม่เก็บความชื้น
ข้อดีของที่นอนยาง PE
- ราคาไม่แพง
- เหนียว แน่นเเข็ง ไม่ยุบง่าย จึงเหมาะใช้เป็นที่นอนทางเลือก
- น้ำหนักเบา ยกทำความสะอาดและเคลื่อนย้ายง่าย
- พับ งอได้ ไม่หัก
- ไม่เป็นฝุ่นและไม่เก็บความชื้น เหมือนที่นอนใยมะพร้าว
- ไม่เป็นอยู่อาศัยของเชื้อรา แบคทีเรีย และแมลงต่างๆ
- แม้จะเป็นวัสดุสังเคราะห์แต่ไม่มีกลิ่นและไม่เป็นพิษ(ยกเว้นนำไปเผาไหม้)
ข้อเสียของที่นอนยางPE
- เนื้อแน่น ค่อนข้างแข็งสำหรับผู้นอนบางคน ไม่รองรับสรีระเท่าที่นอนยางพารา
ที่นอนยางสังเคราะห์เหมาะกับใคร?
- เหมาะกับผู้ไม่ชอบที่นอนใยมะพร้าว แต่ต้องการที่นอนที่ราคาใกล้เคียงกันไม่แพงกว่ามากนัก
- เหมาะสำหรับผู้ที่ชอบนอนที่นอนแข็งแน่น
- เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการเคลื่อนย้าย พลิกที่นอนบ่อยๆ ที่นอนยางPE พลิกและเคลื่อนย้ายง่ายเพราะมีน้ำหนักเบา
อ่านเพิ่มเติม ที่นอนยาง PE ที่นอนขั้นเทพที่แนะนำให้ใช้อย่างยิ่ง (สำหรับคนงบจำกัด)
ดูที่นอนยางPE ของ STL FURNITURE
ที่นอนยางอัด (หรือที่นอนฟองน้ำอัด)
ที่นอนฟองน้ำอัดมีความหนาแน่นแตกต่างกันออกไป
ที่นอนยางอัด หรือ ที่นอนฟองน้ำอัด เกิดจากการนำฟองน้ำมาบดให้เป็นชิ้นเล็กๆ ผสมสารเคมีต่างๆแล้วอัดเป็นก้อนด้วยเครื่องอัดแรงดันสูง และผ่านกรรมวิธีอบด้วยความร้อน ก่อนจะนำมาตัดตามขนาดที่ต้องการ ที่นอนฟองน้ำอัดมีความหนาแน่นแตกต่างกันออกไป หากมีความหนาแน่นมาก แสดงว่ามีฟองน้ำมาก เนื้อจะมีความแน่นแข็ง หากมีความหนาแน่นน้อย แสดงว่าเนื้อฟองน้ำน้อยและอยู่ห่างกัน ตัวที่นอนจะมีความนุ่มฟูกมากกว่า ฟองน้ำอัดเนื้อจะแน่นกว่าฟองน้ำทั่วไปทำให้ที่นอนไม่ยุบง่าย อายุการใช้งานยาวนาน
ข้อดีของที่นอนฟองน้ำอัด
- เนื้อแน่นไม่ยุบง่าย รองรับน้ำหนักได้ดี
- อายุการใช้งานยาวนาน เฉลี่ย10-20 ปี ยิ่งเนื้อแน่นทนทาน
- ราคาถูกกว่าที่นอนยางพาราค่อนข้างมาก
- คุ้มค่าเมื่อพิจารณาอายุการใช้งานเทียบกับราคาที่จ่าย เป็นหนึ่งตัวเลือกแทนที่นอนยางพารา
- สามารถม้วนงอได้โดยที่นอนไม่เสีย
ที่นอนฟองน้ำอัดสามารถม้วนงอได้โดยไม่เสียรูป
ข้อเสียของที่นอนฟองน้ำอัด
- มีน้ำหนักมาก ยิ่งมีความหนาแน่นมากและน้ำหนักมากตามไปด้วย โดยทั่วไปที่นอนฟองน้ำอัดขนาดมาตรฐาน 3.5 ฟุต น้ำหนักอาจถึง 30 กก. ทำให้ลำบากต่อการเคลื่อนย้ายและทำความสะอาด
- ฟองน้ำดูดซับน้ำได้ดี จึงควรหลีกเลี่ยงการถูกน้ำ หากถูกน้ำต้องรีบทำให้ฟองน้ำอัดแห้งโดยเร็ว มิเช่นนั้นอาจเกิดการอับชื้นได้
- ระบายอากาศได้ไม่ดี โดยเฉพาะที่นอนฟองน้ำอัดที่มีความหนาแน่นของเนื้อฟองน้ำสูง
ที่นอนฟองน้ำอัดเหมาะกับใคร?
- เหมาะกับผู้นอนทุกช่วงวัย เหมาะเป็นพิเศษกับผู้สูงอายุและผู้ที่มีน้ำหนักตัวมาก
- เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการที่นอนที่อายุการใช้งานยาวนานและราคาไม่สูงจนเกินไป
ที่นอนฟองน้ำอัด ที่นอนน้องๆยางพารา (แถมราคาถูกกว่าเกือบครึ่ง)
ที่นอนฟองน้ำอัด vs ที่นอนยางพาราอัด เลือกแบบไหนดี?
ดูที่นอนฟองน้ำอัดของ STL FURNITURE
ที่นอนยางพาราอัด
ที่นอนยางพาราอัดมีกรรมวิธีการผลิตเช่นเดียวกับฟองน้ำอัด แต่ต่างกันตรงที่วัตถุดิบที่นำมาอัดและขึ้นรูปคือยางพารา ไม่ใช่ฟองน้ำ กรรมวิธีการผลิตคือนำเอายางพารามาปั่นหรือนำเศษยางพาราชิ้นเล็กๆมาอัด มีการเติมส่วนผสมทางเคมี และนำเข้าเครื่องอัดแรงดันสูงและผ่านการอบแห้ง จากนั้นนำมาตัดตามขนาดที่ต้องการ
ข้อดีของที่นอนยางพาราอัด
- มีความยืดหยุ่นสูงกว่าฟองน้ำอัด จึงให้สัมผัสที่นุ่มกว่าฟองน้ำอัด
- อายุการใช้งานยาวนาน 10-20 ปี ขึ้นไป
- ราคาถูกกว่าที่นอนยางพารา(ฉีด)
- สามารถม้วนงอได้โดยที่ที่นอนไม่เสีย
ข้อเสียของที่นอนยางพาราอัด
- มีน้ำหนักมาก
- เมื่อเสื่อมสภาพจะหลุดเป็นชิ้นเล็กๆ
ที่นอนยางพาราอัดเหมาะกับใคร?
- เหมาะกับคนที่ต้องการที่นอนที่ทำจากยางพาราแต่ราคาไม่แพงมาก
- เหมาะกับคนที่ไม่ชอบที่นอนที่นิ่มแบบยางพารา ที่นอนยางพาราอัดจะให้สัมผัสที่แน่นและยืดหยุ่นน้อยกว่า
- เหมาะกับคนที่ต้องการที่นอนที่ทนทานใช้งานได้ยาวนาน
ที่นอนยางพารา(ฉีด)
ที่นอนยางพารา เกิดจากการนำน้ำยางพาราจากต้นยางพารามาสกัด และขึ้นรูปโดยแม่พิมพ์ โดยผ่านการอบความร้อนเพื่อกำจัดความชื้น กรรมวิธีการผลิตที่นอนยางพารามีหลากหลาย บางกรรมวิธีจะผ่านการเเช่เเข็งและซีลสุญญากาศด้วย เช่น talalay latex ซึ่งมีความนุ่มกว่าและราคาสูงกว่าที่นอนยางพาราทั่วไป เช่น ที่นอนที่ผลิตโดยวิธี dunlop ที่นอนยางพาราที่ได้จะมีความหนาแน่นและแข็งกว่า
คำกล่าวที่ว่า ที่นอนนี้เป็นที่นอนยางพารา 100% นั้น เป็นการกล่าวที่เกินจริงและไม่ถูกต้องนัก ปริมาณยางพาราในตัวที่นอนยางพาราโดยทั่วไปอยู่ราวๆ 95-97% เท่านั้น อีก 3-5% เป็นซัลเฟอร์และซิงค์ออกไซด์ ซึ่งเป็นสารเคมีที่เติมลงไปเพื่อให้ที่นอนมีความคงตัวสามารถขึ้นรูปอยู่ได้
ยางพาราได้จากน้ำยางของต้นยางพารา
ข้อดีของที่นอนยางพารา
- มีความยืดหยุ่นสูง จึงซับพอร์ดน้ำหนัก รูปร่างและ การขยับเขยื้อนของผู้นอนได้ดี และยังลดแรงกดทับแม้ในส่วนที่มีน้ำหนักที่สุดของผู้นอน
- ลดแรงสั่นสะเทือน ไม่รบกวนคู่นอนเมื่อมีการพลิกตัวหรือขยับเขยื้อน
- อายุการใช้งานนาน ที่นอนยางพาราจะยังคงรูปและประสิทธิภาพในการใช้งานแม้เมื่อผ่านไปหลายปี โดยเฉลี่ยอายุการใช้งาน 10-20 ปี
- รองรับน้ำหนักได้มาก คืนสภาพเดิมอย่างรวดเร็วเมื่อลุกออก ไม่ยุบตัวเป็นแอ่ง
- ระบายอากาศได้ดีเพราะเนื้อที่นอนมีฟองของยางจากกรรมวิธีการผลิต
- ม้วน พับได้โดยที่ไม่หักหรือฉีกขาด
- ไม่ต้องผลิกที่นอนเพื่อช่วยรักษาสภาพที่นอน เหมือนที่นอนบางรุ่นที่ควรผลิกนอนทั้งสองด้านเพื่อรักษาอายุของที่นอน
- ป้องกันไรฝุ่น ด้วยธรรมชาติของยางพาราไรฝุ่นไม่สามารถอาศัยอยู่ได้ ช่วยให้การนอนหลับของท่านมีประสิทธิภาพ
- ดูแลรักษาง่าย เพราะไม่เป็นแหล่งสะสมของเชื้อโรค
- เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ที่นอนยางพาราที่จากยางพารา ซึ่งเป็นวัสดุธรรมชาติ กระบวนการสลายตัวเป็นไปตามธรรมชาติ
ที่นอนพารามีความยืดหยุ่นสูงและคืนตัวอย่างรวดเร็ว
ข้อเสียของที่นอนยางพารา
- ราคาสูงกว่าที่นอนทั่วไป
- มีน้ำหนักมาก ยากต่อการพลิกและเคลื่อนย้าย
- อาจมีกลิ่นเหม็นของยาง
- เมื่อที่นอนหมดอายุจะเริ่มเป็นขุยและหลุดเป็นเศษผงเล็กๆ
ที่นอนยางพาราเหมาะกับใคร?
- เหมาะกับคนที่ชอบนอนนุ่มนิ่ม ไม่เหมาะกับคนที่ชอบนอนนุ่มแน่นหรือแข็ง
- เหมาะกับคนทุกช่วยวัย โดยเฉพาะผู้ที่มีปัญหาเรื่องหลัง ผู้สูงอายุ และผู้ที่มีน้ำหนักตัวมาก
5 ข้อที่คนมักเข้าใจผิดเกี่ยวกับที่นอนยางพารา
ดูที่นอนยางพาราของ STL FURNITURE
ตารางเปรียบเทียบคุณสมบัติของที่นอนแต่ละประเภท จัดทำโดย STL FURNITURE
สรุป
ทั้งหมดนี้คือ ที่นอนทั้ง 7 ประเภท ซึ่งแต่ละประเภทก็มีข้อดี ข้อเสียแตกต่างกันออกไป การเลือกซื้อที่นอนให้เหมาะสมกับความต้องการของผู้นอนจะต้องพิจารณาให้ถี่ถ้วนและรอบด้าน โดยเปรียบเทียบข้อดีข้อเสียของที่นอนแต่ละประเภท ชั่งน้ำหนักอย่างรอบคอบ เพื่อที่จะตัดสินใจซื้อที่นอนได้ถูกต้องตรงตามความต้องการและคุ้มค่ากับเงินที่จ่ายไปมากที่สุด หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์กับท่าน หากท่านใดมีคำถามหรืออยากจะเพิ่มเติมในรายละเอียดส่วนไหนสามารถคอมเม้นท์ใต้บทความนี้ได้เลย
ดูที่นอนทั้งหมดของร้าน STL FURNITURE
ดูสินค้าทั้งหมดของร้าน STL FURNITURE
อ้างอิง
https://www.mattressonline.co.uk
รูปภาพประกอบ